วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

นาฏศิลป์จีน


           นาฏศิลป์จีนมีประวัติความเป็นมาเหมือนทุกชาติในตะวันออก คือ เกิดจากการประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ จนพัฒนามาเป็นละครแบบต่างๆ ในราชสำนัก จนท้ายที่สุดเกิดเป็นอุปรากรจีน (งิ้ว) นับเป็นศิลปะที่มีแบบแผนระดับชาติที่ชาวจีนได้พัฒนา และอนุรักษ์มาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนมีลักษณะเป็นศิลปะประจำชาติ นาฏศิลป์ของจีนมีมากมาย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการแสดงงิ้วเพียงอย่างเดียว แต่ก่อนที่จะศึกษาการแสดงงิ้ว เราควรจะทราบประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์จีนเสียก่อน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้



1.1 ประวัติความเป็นมาของนาฏศิลป์จีน



นาฏศิลป์จีนเกิดจากระบำทรงเจ้าในพิธีทางศาสนาหรือเรียกว่า "รามาอู๋อู" นับเป็นศิลปะที่เก่าแก่มากที่สุด จุดประสงค์ในการแสดง เพื่อบำบัดภัยอันตรายจากธรรมชาติ บำบัดความเจ็บไข้ และความทุกข์ทั้งปวง



ในสมัยราชวงศ์โจวศิลปะทางนาฏศิลป์ของจีนมีหลากหลาย เช่น ละครใบ้ ละครตลก การขับกล่อม การเล่านิทานประกอบดนตรี เพลงพื้นบ้าน นาฏศิลป์มีทั้งที่เป็นของชาวบ้าน และในราชสำนัก แต่เจริญสูงสุดในราชวงศ์ถัง โดยจักรพรรณ "มิ่งฮวง" ทรงเชี่ยวชาญนาฏศิลป์ และการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ทรงจัดตั้งวิทยาลัยการละครในพระราชอุทยานสวนสน นครเชียงอาน ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนนาฏศิลป์ทุกแขนง ชาวนาฏศิลป์จีนยกย่องท่าเป็นบิดาแห่งการละคร และบูชาพระพุทธรูปก่อนการแสดงทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล



การแสดงนาฏศิลป์จีนโบราณจะไม่มีฉากใช้วิธีสมมุติ ผู้แสดงต้องรับการฝึกเป็นระยะเวลานาน เพราะต้องฝึกร้องเพลง เต้นระบำ ฝึกกายกรรม ผู้แสดงต้องมีพรสวรรค์ มีความสามารถรอบด้าน ความจำดีเป็นเยี่ยม ต้องจำบทเจรจาได้ เพราะการแสดงนาฏศิลป์จีนจะไม่มีการบอกบท



ศิลปะการแต่งหน้านาฏศิลป์จีนถือเป็นศิลปะขั้นสูงมาก เพราะเป็นการบอกลักษณะนิสัยตัวละคร เช่น



สีดำ หมายถึง ความโกรธ ฉุนเฉียว



สีแดง หมายถึง ความศักดิ์สิทธิ กล้าหาญ ซื่อสัตย์



สีนำเงิน หมายถึง ความโหดร้าย



สีขาว หมายถึง ความสง่า ภาคภูมิ



สีเหลือง หมายถึง ความดี



สีเขียว หมายถึง ความชั่วร้าย







สำหรับตัวละครที่เป็นผู้หญิง ใช้ผู้ชายแสดงแทน โดยมีคตินิยมว่า ผู้ชายถ้าแสดงได้สมบทบาทแล้ว จะดูดีกว่าให้ผู้หญิงจริงๆ แสดง



ต่อมาจนถึงสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ได้ทรงปรับปรุงลีลาท่ารำของการแสดงให้นุ่มนวล ผสมกลมกลืนกับศิลปะหลายแขนง ได้แก่ ดนตรี ขับร้อง นาฏลีลา การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งปัจจุบันจะหาชมได้จากอุปรากรจีน (งิ้ว)



2.2 การแสดงชุดอุปรากรจีน (งิ้ว)



อุปรากรจีนที่เป็นแบบมาตรฐาน และนับเป็นศิลปะประจำชาติ คือ อุปรากรปักกิ่ง ซึ่งการแสดงจะเน้นศิลปะด้านดนตรี การขับร้อง นาฏลีลา การแสดงอารมณ์ ศิลปะการต่อสู้กายกรรม ผู้แสดงจะต้องมีพรสวรรค์ น้ำเสียงมีคุณภาพ นอกจากนี้ยังต้องมีความอดทนสูงอีกด้วย องค์ประกอบของอุปรากรจีนจะประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ดังนี้



1. ประเภท และบทบาทตัวละคร ตัวละครชายกับหญิงแบ่งออกเป็น "บู๊และบุ๋น" โดยประเภทที่แสดงบู๊จะต้องแสดงกายกรรม ส่วนประเภทที่แสดงบุ๋นจะเน้นที่การขับร้อง และการแสดงอารมณ์ แต่ถ้าแสดงบทบาทที่คาบเกี่ยวกัน จะเรียกตัวละครนั้นว่า "บู๊บุ๋น"



2. เทคนิคการแสดง แสดงตามทฤษฎีการเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย มีจังหวะสง่างาม การเคลื่อนไหวของมือ เท้า การเดิน การเคลื่อนไหวของหนวดเครา ชายเสื้อ ขนนกที่ประดับอยู่บนศีรษะจะคล้ายกับละครใบ้ ใช้สัญลักษณ์แทนความหมาย เช่น การยกทัพใช้คนถือธงเพียงคนเดียว เดินนำหน้าแม่ทัพ กิริยาอายของสตรีจะแสดงโดยการยกแขนเสื้อมาบังใบหน้า และการแสดงว่ากำลังนอนก็แสดงโดยวางแขนไว้บนโต๊ะแล้วนอนหนุนแขน เป็นต้น



3. เครื่องแต่งกาย แต่งตามชุดประจำชาติ มีชุดจักรพรรดิ ชุดขุนนาง เครื่องทรงเสื้อเกราะ มงกุฎจักรพรรดิ หมวกขุนนาง นักรบ รองเท้าเป็นรองเท้าผ้าพื้นเรียบ ผู้แสดงแต่งหน้าเองตามบทบาทที่แสดง



4. ดนตรี และการขับร้อง เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการแสดงอุปรากรจีน ซึ่งเครื่องดนตรีประเภทบุ๋นประกอบด้วยเครื่องดีด เครื่องสี ที่สำคัญ ได้แก่ ซอ ปักกิ่ง กีตาร์ทรงกลมคล้ายพระจันทร์ แบนโจสามสาย ขลุ่ย ปี่ ออร์แกน แตรจีน ส่วนเครื่องดนตรีประเภทบู๊ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทบู๊ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี และเครื่องกระทบ ได้แก่ กรับ กลองหนัง กลองเตี้ย กลองใหญ่ ฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก ฆ้องชุด และฉาบ



ลักษณะการขับร้องนับว่าเป็นหัวใจสำคัญ เพราะผู้ชมต้องการฟังความไพเราะของการขับร้องเพลงมากกว่าการติดตามดูเพื่อให้ทราบเนื้อร้อง



5. เวที ฉาก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง สมัยโบราณเวทีมักสร้างด้วยอิฐ หิน เรียกว่า "สวนน้ำชา" หรือ "โรงน้ำชา" เวทีชั่วคราวสร้างด้วยไม้รูปสี่เหลี่ยม มีหลังคา ยึดด้วยเสา 4 ตัว พื้นเวทีปูด้วยเสื่อหรือพรม อุปกรณ์โต๊ะ 1 ตัว เก้าอี้ 2 ตัว ไม่มีม่านด้านหน้า อาวุธ เช่น ดาบ หอก ธนู หลาว ทวน กระบอง



1 ความคิดเห็น: